วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

อานิสงส์ ของการใส่บาตร

การตักบาตรแบบถูกต้องได้อานิสงส์มาก.. วันนี้ คุณใส่บาตรแล้วหรือยัง ?

การตักบาตร เป็นการทำบุญที่ชาวพุทธทั่วไปรู้จัก และปฏิบัติมากกว่าการทำบุญประเภทอื่นๆ การตักบาตรนั้นยังถือว่าเป็นการทำบุญประจำวันของชาวพุทธ และชาวพุทธไทยเชื่อว่า การออกบิณฑบาตของพระสงฆ์เป็นการช่วยโปรดสัตว์ที่อยู่ในอบายภูมิ เช่น เปรตวิสัย ให้ได้รับส่วนบุญ ด้วยเหตุผลทางจริยธรรม ในการทำบุญตักบาตรนั้น พอสรุปได้ดังนี้ 

๑. เป็นการสั่งสมบุญในแต่ละวัน เพราะการสั่งสมเป็นเหตุนำความสุขมาให้ 

๒. เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำบุญทำให้จิตใจแจ่มใส เพื่อให้มีกำลังใจที่เข้มแข็ง เพราะผู้ที่ไม่มีบุญเกื้อหนุนอยู่ในใจ ย่อมพ่ายแพ้ต่อบาปได้ง่าย 

๓. เป็นการทำที่พึ่งคือบุญให้แก่ตนเองในอนาคต 

๔. เป็นการช่วยรักษาพุทธประเพณี เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต และที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ล้วนแต่ดำรงพระชนม์ชีพด้วยอาหารบิณฑบาต 

๕. เป็นการช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ศึกษา ปฏิบัติพระธรรมวินัย แล้วนำมาสั่งสอนให้ประชาชนได้รับรสแห่งพระธรรมด้วย อีกทั้งยังดำรงตนเป็นตัวอย่างด้านความประพฤติดีงามของสังคม ฉะนั้น ชาวพุทธควรทำบุญตักบาตรเป็นประจำทุกวัน เพื่อเป็นการสั่งสมบุญให้แก่ตนเองที่จะต้องนำไป ดุจเสบียงเดินทาง ในการท่องเที่ยวเวียนเกิดและเวียนตายอยู่ในวัฏฏสงสาร อันไม่ปรากฏเบื้องต้นและที่สุด และบุญที่สั่งสมไว้นี้ จะช่วยเกื้อกูลให้พ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ 

อนึ่ง ประโยชน์ส่วนรวมที่จะเกิดขึ้น คือเป็นการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้นำของพุทธบริษัท ที่เป็นฐานกำลังสำคัญแห่งกองทัพธรรมนั้น ท่านดำรงชีพอยู่ได้ด้วยปัจจัยที่คฤหัสถ์จัดถวาย ท่านจึงสามารถมีกำลังกาย กำลังใจที่จะศึกษาพระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎก ให้เข้าใจ ทรงจำ นำมาประพฤติปฏิบัติ และกล่าวสอนมวลมนุษย์ได้ 


การทำบุญตักบาตรจะสมบูรณ์ได้ต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

๑. ต้องเตรียมใจให้พร้อม ข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะบุญที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ใจของผู้ถวาย ท่านแนะนำให้รักษาเจตนาให้บริสุทธิ์ทั้ง ๓ ขณะ คือ

๑.๑ ก่อนถวาย ตั้งใจเสียสละอย่างแท้จริง

๑.๒ ขณะถวาย ก็มีใจเลื่อมใส ถวายด้วยความเคารพ

๑.๓ หลังจากถวายแล้ว ต้องยินดีในทานของตัวเองจิตใจเบิกบานเมื่อนึกถึงทานที่ตนเองได้ถวายไปแล้ว การทำใจให้ได้ทั้ง ๓ ขณะดังกล่าวนี้ นับว่ายากมาก เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้จิตใจของเราเศร้าหมองในขณะใดขณะหนึ่งได้ 

๒. ผู้รับ คือ พระภิกษุสามเณร เป็นผู้สำรวมระวัง มีข้อวัตรปฏิบัติที่ดีงามตามพระธรรมวินัย ใฝ่ศึกษาเล่าเรียน พระพุทธพจน์ ทรงจำ นำมาบอกกล่าว สั่งสอนได้ และเป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรเทาราคะ โทสะ โมหะ จนสามารถละขาดได้อย่างสิ้นเชิง 

๓. สิ่งของที่ถวาย จะต้องได้มาด้วยวิธีที่สุจริต ไม่เบีดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน และที่สำคัญคือสิ่งนั้นต้องเหมาะสมแก่พระภิกษุสามเณรด้วย 

ทำบุญตักบาตรให้หมั่นอธิษฐาน

เมื่อองค์ประกอบ ๓ อย่างข้างต้นบริบูรณ์ สิ่งที่จะต้องทำก่อนตักบาตร คือ "การอธิษฐาน" การอธิษฐานนี้นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง เพราะจะทำให้บุญของเราหนักแน่น ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นมากขี้น และยังทำให้เราทราบเป้าหมายในการทำบุญด้วย นอกจากนี้ การอธิษฐานยังสามารภสร้างพลังขึ้นในจิตใจให้มากขึ้น เป็นการสั่งสมกำลังแห่งความบากบั่น อดทน เพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้เราก้าวไปสู่สิ่งที่ปรารถนาได้ การอธิษฐานในขณะที่บำเพ็ญบุญนั้น ผลบุญย่อมหนุนส่งให้สำเร็จตามที่ปรารถนาไว้ ถึงแม้จะขึ้นอยู่กับเวลาและโอกาสบ้างก็ตาม แต่ความดีที่ทำไว้ย่อมไม่เสียหายไปแน่นอน 

ฉะนั้น ก่อนตักบาตร ควรอธิษฐานโดยนั่งหรือยืนก็ได้ แล้วแต่สถานที่จะอำนวย ยกสี่งของที่จะถวายขึ้นเสมอหน้าผาก แล้วอธิษฐานตามที่ต้องการที่ชอบธรรมเป็นภาษาใดก็ได้ จะว่าในใจหรือออกเสียงเบาๆ ก็ได้ จากนั้นจึงถวายอาหารบิณฑบาตด้วยความเคารพ ถ้ามีดอกไม้ธูปเทียนให้ถวายหลังจากที่ถวายอาหารบิณฑบาตเสร็จแล้ว ถ้าเป็นสตรีให้วางดอกไม้ธูปเทียนไว้บนฝาบาตร เมื่อพระท่านปิดบาตรแล้ว 

คำอธิษฐานก่อนตักบาตร

ตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา มีเป็นหมายเพื่อให้มนุษย์ปลดเปลื้องตนเองจากทุกข์ มีจิตใจเป็นอิสระเหนือทุกข์ทุกอย่าง (พระนิพพาน) หลักการดำเนินชีวีตของชาวพุทธนั้นต้องสอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งพระโบราณาจารย์ท่านจึงบัญญัติคำ อธิษฐานที่เป็นสากลนิยมไว้ว่า"อิ ทัง ทานัง สีละวันตานัง ภิกขูนัง นิยยาเทมิ สุทินนัง วะตะ เม ทานัง นิพพานะปัจจะโย โหตุ อะนาคะเต กาเล ฯ ข้าพเจ้าขอน้อมถวายทานนี้แด่พระสงฆ์ผู้มีศีล ขอท่านที่ข้าพเจ้าถวายดีแล้ว จงเป็นเหตุให้ถึงพระนิพพาน ในอนาคตกาล เบื้องหน้าโน้นเทอญ ฯ" 

อีกบทหนึ่งเป็นคำอธิษฐานถึงพระสังฆรัตนะ ว่า “นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง, สังโฆ เม สะระณัง วะรัง, เอเตนะ สังจะวัชเชนะ, โสตถิ เม โหตุ สัพพะทา ฯ ที่พึ่งอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า ด้วยคำสัตย์ นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ข้าพเจ้าในกาลทุกเมื่อ เทอญ ฯ” ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น